82 บทที่ 8 การประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมของไผ่บางชนิดในประเทศไทยโดยใช้ เครื่องหมายเอเอฟแอลพีและไมโครแซทเทลไลท์ คำนำ ไผ่เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ Gramineae พบกระจายอยู่เกือบทั่วโลก มีการค้นพบและรายงานไว้ ประมาณ 77 สกุล 1,030 ชนิด (Dransfield and Widjaja, 1995) สำหรับในประเทศไทยนั้นมีรายงานไว้ ประมาณ 15 สกุล 82 ชนิด มีบางชนิดที่หลงเหลือจากการสำรวจอยู่บ้าง เนื่องจากอยู่ในป่าลึกและขาด ผู้เชี่ยวชาญในการจัดจำแนกพันธุ์ (รุ่งนภา และคณะ, 2544) ไผ่เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการ ดำรงชีวิตของชาวเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา (McClure, 1966; Farrelly, 1984) โดยเฉพาะคนไทยมีการ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไม้ไผ่เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานอย่างกว้างขวางทั้งทางตรงและ ทางอ้อม แทบทุกส่วนของไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ซึ่งในปัจจุบันมีอุตสาหกรรมรองรับ และ นับวันก็ยิ่งจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยสามารถนำไผ่มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้างาน ต่างๆ มากมาย อาทิ งานด้านศิลปหัตถกรรม เครื่องจักสานเฟอร์นิเจอร์เครื่องเรือน อุตสาหกรรมกระดาษ ไหมเทียม กระดาษแก้ว แผ่นไม้อัด ที่มีความนิยมสูงในการใช้ตกแต่ง หรือทำไม้แบบในงานก่อสร้าง ซึ่งใช้ได้ มากครั้งกว่าไม้แบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (ธนาคารกสิกรไทย, 2528) ส่วนหน่อใช้ในการบริโภคมีคุณค่าทาง อาหาร นอกจากนี้ยังมีการนำมาปรุงในตำรับยาสมุนไพร (Guo, 1989) และอุตสาหกรรมการผลิตหน่อไม้ กระป๋อง หน่อไม้แห้ง (สุทัศน์, 2544) ซึ่งผลิตภัณฑ์จากไผ่ในรูปหน่อไม้กระป๋องเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้ ในประเทศไทยอย่างหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2548 มีมูลค่าการส่งออก 482.3 ล้านบาท (กระทรวงพาณิชย์, 2549) รากยังช่วยยึดหน้าดินและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่หน้าดิน เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว โรคแมลงน้อยจึงใช้ใน การปรับปรุงสภาพป่าเสื่อมโทรม เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของไทย (รุ่งนภา และคณะ, 2544) แม้ ประโยชน์ของไผ่มีอยู่มากมายดังกล่าวข้างต้น แต่ก็ยังมีปัญหาในการจำแนกพันธุ์ของไผ่อยู่ นอกจากนี้ยังไม่มี ข้อมูลสถานภาพแหล่งพันธุกรรมของไผ่ป่ามาก่อน (รังสัน และ สุจิตรา, 2548) ดังนั้นรังสัน และ สุจิตรา (2548) จึงได้ศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของไผ่บางชนิดโดยใช้ เครื่องหมายเอเอฟแอลพี (AFLP; Amplified Fragment Length Polymorphism) และไมโครแซทเทลไลท์ (Microsatellite) ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของไผ่ชนิดต่างๆ และ ประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมของไผ่ป่า (Bambusa bambos) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลพื้นฐาน ทางพันธุกรรมในด้านความแปรปรวนทางพันธุกรรม (Genetic variation) โดยข้อมูลความแปรปรวน ทางพันธุกรรมทำให้ทราบถึงโครงสร้างทางพันธุกรรม (Genetic structure) และพื้นฐานทางพันธุกรรม ของไผ่ที่ศึกษาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์ และปรับปรุงพันธุ์ไผ่ ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการจัดจำแนกชนิดพันธุ์ของไผ่ที่กำลังมีปัญหาไม่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจน และเพื่อจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรไผ่อย่างยั่งยืนต่อไป
การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมโดยใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอและไอโซเอนไซม์ยีน
To see the actual publication please follow the link above